Select your language TH EN
การแพทย์จีน การตั้งตำรับยาจีน   thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ




การตั้งตำรับยาจีน 

ตำรับยาเกิดจากการผสมกันของตัวยาต่างๆ ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป โดยได้จากการวินิจฉัยโรคแล้วจึงคัดเลือกตัวยาที่เหมาะสมเข้าเป็นหมวดหมู่ ด้วยตัวยาแต่ละตัวที่มีสรรพคุณเด่นและด้อยในตัวเอง ดั้งนั้นการตั้งตำรับยาที่เหมาะสมอาจเสริมฤทธิ์หรือลดพิษของตำรับยาได้ การเสริมฤทธิ์ ลดพิษหรือลดความแรงของยาที่เหมาะสม มีผลทำให้ตัวยาสามารถออกฤทธิ์ได้ดี

ตามคัมภีร์ เน่ย์จิง ตำรับยาจะประกอบด้วยตัวยาหลัก ตัวยาเสริม ตัวยาช่วย และตัวยานำพา ตัวยาหลักเป็นตัวยาที่สำคัญที่สุดในตำรับยา โดยทั่วไปจะใช้ในปริมาณที่มากที่สุด ส่วนตัวยาเสริมและตัวยาช่วยจะใช้ในปริมาณที่รองลงมา

-ตัวยาหลัก  หรือ จู่เหย้า คือ ตัวยาที่เป็นตัวยาสำคัญที่ใช้เป็นยารักษาโรคของตำรับนั้น ตัวยานี้จะมีผลรักษาสาเหตุของโรค หรืออาการสำคัญของโรค ดั้งนั้นตัวยาหลักจึงเป็นตัวสำคัญก่อให้เกิดผลการรักษาตามวัตถุประสงค์ของตำรับยานั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือตัวยาหลักบอกสรรพคุณหลักของตำรับยานั้น ตัวอย่าง เช่น การใช้หมาหวง เป็นตัวยาหลักในตำรับยาขับเหงื่อ แก้หอบหืด เป็นต้น

-ตัวยาเสริม หรือ ฝู่เหย้า คือ ตัวยาที่ช่วยเสริมหรือเพิ่มประสิทธิผลของการรักษาของตัวยาหลักในตำรับ รวมทั้งใช้รักษาอาการอื่นๆ ของโรคนั้นๆ ที่ตัวยาหลักไม่สามารถครอบคลุมอาการเหล่านั้นได้ ตัวอย่างเช่น การใช้กิ่งอบเชยจีน เป็นตัวยาเสริมสำหรับหมาหวงในการขับเหงื่อ กระทุ้งไข้ ในตำรับยาหมาวาง เป็นต้น

-ตัวยาช่วย หรือ จั่วเหย้า คือ ตัวยาที่ช่วยเสริมฤทธิ์ ควบคุม ลดพิษ ขจัดพิษของตัวยาหลักและตัวยาเสริม รวมทั้งใช้รักษาผลข้างเคียงของตัวยาหลักและตัวยาเสริม ตัวยานี้มักใช้ในปริมาณน้อย เช่น การใช้ขิงสด ลดพิษของปั้นเซี่ย ซึ่งเป็นตัวยาหลักในตำรับยาแก้ไอ เป็นต้น

-ตัวยานำพา หรือ สื่อเหย้า คือ ตัวยาที่ทำหน้าที่นำพาตัวยาอื่นๆ ให้ไปยังบริเวณที่ต้องการักษา และทำหน้าที่ปรับตัวยาในตำรับให้เข้ากันได้ มักใช้ตัวยานี้ในปริมาณที่น้อย ตัวอย่างเช่น การใช้ชะเอมเทศ เป็นตัวยานำพา ทำหน้าที่ปรับตัวยาทั้งตำรับให้เข้ากัน และป้องกันการขับเหงื่อมากเกินไปของหมาวาง และกิ่งอบเชยจีน ในตำรับหมาหวงทัง เป็นต้น

นอกจากตัวยาหลักแล้วตำรับยาหนึ่งๆ ไม่จำเป็นต้องมีส่วนประกอบครบทั้งหมดและตัวยาหนึ่งหๆ อาจทำหน้าที่ได้หลายอย่าง หากอาการเจ็บป่วยไม่ซ้ำซ้อน อาจใช้ตัวยาเพียงหนึ่งหรือสองชนิดได้ แต่หากตัวยาหลักและตัวยาเสริมไม่มีพิษหรือไม่มีอาการข้างเคียงก็ไม่จำเป็นต้องมีตัวยาช่วย และหากตัวยาหลักสามารถเข้าสู่บริเวณที่เจ็บป่วยได้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวยานำพา โดยทั่วไปการตั้งตำรับยามักใช้ตัวยาหลักเพียงหนึ่งชนิดแต่หากอาการเจ็บป่วยมีความซ้ำซ้อนมากก็สามารถใช้ตัวยาหลักได้มากกว่าหนึ่งชนิด ส่วนตัวยาเสริมนั้นสามารถใช้ได้หลายชนิดและตัวยาช่วยมักใช้จำนวนชนิดมากกว่าตัวยาเสริม สำหรับตัวยานำพานั้นมักใช้เพียงหนึ่งถึงสองชนิดดังนั้นในตำรับแต่ละตำรับอาจมีจำนวนชนิดของตัวยาที่ทำหน้าที่แตกต่างกันขึ้นกับอาการของผู้ป่วย ชนิดโรค และวิธีการรักษาเป็นสำคัญ



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง